ITO Thailand Hygiene Blog

Jan 31 2022

อาหารฟังก์ชัน

            ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การลดความเสี่ยง หรือบำรุงรักษาอาการโรคที่เริ่มเป็นไม่ให้ลุกลามกว่าเดิม ทำให้อาหารฟังก์ชันเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาด และมีมูลค่าเพิ่ม ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ

            อาหารฟังก์ชันมีแหล่งที่มาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้บริโภค สำหรับผู้บริโภคทั่วไป มักสนใจอาหารที่มีฟังก์ชันต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงของโรค หรือบรรเทาอาการของโรค

             สำหรับระบบทางเดินอาหาร อาหารฟังก์ชันที่โดดเด่น จะประกอบด้วยใยอาหาร (Dietary fiber) โปรไบโอติกส์ (Probiotics) และ พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งใยอาหารเป็นสารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายย่อยไม่ได้ มีส่วนช่วยในระบบทางเดินอาหารและขับถ่าย และสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ละลายน้ำได้ และละลายน้ำไม่ได้  โดยกลุ่มที่ละลายน้ำได้สามารถอุ้มน้ำในโครงสร้างและมีลักษณะเป็นเจล หรือเป็นเมือกนิ่ม เช่น เพคติน กัม และเฮมิเซลลูโลสบางชนิด จะช่วยขัดขวางและชะลอการน้ำตาลเข้าสู่เส้นเลือด และลดการดูดซึมคลอเรสเตอรอลในอาหารเข้าสู่ร่างกาย

            ส่วนใยอาหารชนิดที่ละลายไม่ได้ เช่น เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และ ลิกนิน จะช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ ทำให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น และทำให้ระบบทางเดินอาหารและลำไส้ขยับตัว ทำงานได้ปกติ [1] ส่วนโปรไบโอติกส์ คือจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิต และเป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย เช่น สามารถผลิตสารอาหาร วิตามิน เอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหารที่น้ำย่อยในร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ลดอาการท้องอืด ปรับสมดุลลำไส้ ลดจำนวนจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในลำไส้ ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น [2] ผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกส์อาจอยู่ในรูปของอาหารเสริมในรูปเม็ดหรือผงชงดื่ม หรืออยู่ในอาหารที่มีกระบวนการหมัก (fermentation) เป็นส่วนประกอบและบรรจุโดยไม่ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ถั่วหมัก มิโสะ เป็นต้น

            สำหรับพรีไบโอติกส์ คือคือคาร์โบไฮเดรตสายสั้นที่ร่างกายมนุษย์ย่อยไม่ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใยอาหาร แต่เป็นกลุ่มที่มีความพิเศษ คือ สามารถย่อยได้ด้วยโพรไบโอติกส์ในลำไส้ใหญ่ได้ จึงเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ทำให้จุลินทรีย์ที่ดีเติบโต และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เกณฑ์ในการจำแนกพรีไบโอติกส์คือ

1. ต้านทานการย่อยของกรดและเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

2. สามารถถูกหมักด้วยจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้ดี

3. ช่วยส่งเสริมจุลินทรีย์ที่ดีให้เจริญเติบโตและ/หรือสร้างสารที่เป็นประโยชน์ [3] ตัวอย่างของพรีไบโอติกส์ได้แก่ กาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ ฟรุตโตโอลิโกแซคคาไรด์ และ อินูลิน  

            สำหรับระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในปัจจุบัน อาหารที่มีฟังก์ชันด้านนี้ ได้แก่ ใยอาหาร ไฟโตสเตอรอล (phytosterol) (สารคล้ายคอเลสเตอรอล พบได้ในพืช) กรดโอเลอิค (oleic acid) กรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สารพฤกษเคมี (phytochemicals) และ เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ (bioactive peptide) เป็นต้น [4] โดยสารเหล่านี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ทั้งการลดคอเลสเตอรอลในเลือด ยับยั้งการออกซิเดชันของคอเลสเตอรอลตัวไม่ดี ลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ ลดความดันเลือด ส่งเสริมการทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือด และ ส่งเสริมการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งช่วยในการอุดรอยฉีกขาดของหลอดเลือดได้ [5]

            นอกจากส่งเสริมบำรุงแล้ว ยังมีอาหารฟังก์ชันสำหรับกลุ่มผู้มีความต้องการเฉพาะ หรือเรียกว่าอาหารสั่งตัด (tailor-made food) เช่น อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน โดยปรับปรุงส่วนของคาร์โบไฮเดรตให้เอนไซม์ในร่างกายย่อยได้ยากขึ้น จึงทำให้อิ่มนานและลดความแปรปรวนของน้ำตาลในเลือด [อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คาร์โบไฮเดรตทางเลือก]

 

            ส่วนในกลุ่มผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก นอกจากทำให้อิ่มนาน อาจมีการเพิ่มใยอาหารหรือช่วยเรื่องการเผาผลาญเพิ่มเติม อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องมีการควบคุมปริมาณโปรตีนและเกลือ รวมถึงให้พลังงานสูง เพราะผู้ป่วยมักรับประทานอาหารได้จำกัด เช่นเดียวกับอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่นอกจากจะต้องให้พลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ เพราะรับประทานได้จำกัดเช่นกันแล้ว ยังต้องคำนึงถึงลักษณะเนื้อสัมผัสที่ไม่แข็งหรือหนืดเกินไป เคี้ยวกลืนได้โดยไม่สำลักอีกด้วย สำหรับกลุ่มนักกีฬา เป็นกลุ่มที่ต้องการพลังงานสูง เนื่องจากมีการใช้พลังงานมาก และต้องการโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ จึงมีการพัฒนาอาหารโปรตีนสูง หรือแหล่งโปรตีนใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ [อ่านเพิ่มเติมที่ โปรตีนทางเลือก]

 

อ้างอิง

1. https://www.webmd.com/diet/features/insoluble-soluble-fiber

2.Soccol, C. R., Vandenberghe, L. P. D. S., Spier, M. R., Medeiros, A. B. P., Yamaguishi, C. T., Lindner, J. D. D., … & Thomaz-Soccol, V. (2010). The potential of probiotics: a review. Food Technology and Biotechnology48(4), 413-434.

3.Al-Sheraji, S. H., Ismail, A., Manap, M. Y., Mustafa, S., Yusof, R. M., & Hassan, F. A. (2013). Prebiotics as functional foods: A review. Journal of functional foods5(4), 1542-1553.

4.Koutelidakis, A., & Dimou, C. (2016). The effects of functional food and bioactive compounds on biomarkers of cardiovascular diseases. Functional Foods Text Book, 1st ed.; Martirosyan, D., Ed, 89-117.

5.Asgary, S., Rastqar, A., & Keshvari, M. (2018). Functional food and cardiovascular disease prevention and treatment: a review. Journal of the American College of Nutrition37(5), 429-455.

Related Post