ITO Thailand Hygiene Blog
สารก่อภูมิแพ้
ส่วนประกอบของอาหารที่บังคับให้แสดงบนฉลากในลักษณะนี้ คือ อาหารที่มีองค์ประกอบของสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนที่ผู้บริโภคบางคน เมื่อรับประทานเข้าไปจะมีความผิดปกติหรืออาการป่วย เช่น หายใจไม่สะดวก ทางเดินหายใจบวม ปากบวม ผื่นคัน ในรายที่เป็นมากๆ อาจเสียชีวิตได้ โดยเป็นธรรมชาติของระบบภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีของคนๆ นั้น ในขณะที่ผู้บริโภคที่ไม่มีความไวต่อสารเหล่านี้ และสามารถรับประทานได้เป็นปกติ
เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่มีอาการแพ้ กฏหมายอาหารของแต่ละประเทศจึงได้กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารต้องแสดงส่วนผสมที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้เหล่านี้ไว้บนฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ หรือไปบริโภคโปรตีนทางเลือกที่ไม่เกิดอาการแพ้ เช่น ผู้ที่แพ้นมวัวก็ดื่มนมจากพืชแทน เป็นต้น โดยกฏหมายของแต่ละประเทศจะบังคับใช้ให้ระบุกลุ่มสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกัน เนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น พันธุกรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่นิยมบริโภค ลักษณะทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณากฎหมายของประเทศปลายทางเป็นหลักในการให้ข้อมูลเรื่องสารก่อภูมิแพ้
ในประเทศไทย กฎหมายเรื่องการแสดงฉลากสารก่อภูมิแพ้ ได้ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 383) พ.ศ. 2560 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยระบุว่า สารก่อภูมิแพ้ที่กำหนดให้ต้องแสดงในฉลาก ได้แก่
1.ธัญพืชที่มีโปรตีนกลูเตน ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต สเปลท์ หรือสายพันธุ์ลูกผสม และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเหล่านี้ ยกเว้น กลูโคสไซรัปจากข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ มอลโทเดกซ์ตรินจากข้าวสาละ และแอลกอฮอล์จากการกลั่นเมล็ดพืช
2.สัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู กั้ง ล็อบสเตอร์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหล่านี้
3.ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่
4.ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา ยกเว้นเจลาตินจากปลาที่ใช้เป็นสารช่วยพาวิตามินและแคโรทีนอยด์
5.ถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์
6.ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ ยกเว้นบางชนิดเช่น น้ำมัน/ไขมันถั่วเหลืองที่ทำให้บริสุทธิ์ สารกลุ่มโทโคเฟอรอล ไฟโตสเตอรอล และสตานอลเอสเตอร์จากถั่วเหลือง เป็นต้น
7.นมและผลิตภัณฑ์จากนม ยกเว้น แลคติทอล
8.ถั่วเปลือกแข็ง (เช่น วอลนัต อัลมอนด์ พีเเคน) และผลิตภัณฑ์
9.ซัลไฟต์ ที่มีปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
โดยการระบุข้อมูลลงบนฉลาก ขึ้นอยู่กับลักษณะการมีสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์
– ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์อาหาร มีของเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ ระบุข้อความ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร: มี…”
– ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์อาหาร มีการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ระบุข้อความ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร: อาจมี…”
สำหรับในการจัดการสารก่อภูมิแพ้ในโรงงาน อาจมีตัวอย่างการจัดการบางส่วน ที่แนะนำได้ดังนี้
1.ประเมินวัตถุดิบ เพื่อพิจารณาการมีอยู่และโอกาสปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้
2.ประเมินจุดที่มีโอกาสปนเปื้อนตลอดกระบวนการ
3.ประเมินผลิตภัณฑ์สินค้าสำเร็จ
4.ประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนข้าม
5.จัดตั้งมาตรการควบคุมเพื่อลดหรือขจัดความเสี่ยง
6.มีการกำหนดวิธีดำเนินงานเมื่อต้องผลิตซ้ำหรือแก้ไขงาน
7.มีการออกแบบการทำความสะอาดที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และไม่มีการปนเปื้อนข้าม เช่น การใช้รหัสสีที่อุปกรณ์ทำความสะอาด การใช้รหัสสีที่อุปกรณ์ทำอาหาร หรือการใช้อุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น
8.มีการออกแบบการจัดเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีและไม่มีสารก่อภูมิแพ้เพื่อกันการปนเปื้อนข้าม
9.ใส่ใจกับสารก่อภูมิแพ้ที่อาจลอยอยู่ในอากาศหรือเกาะติดชุดพนักงาน หรือรองเท้า
10.ปรับปรุงตารางการผลิตเพื่อแยกระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มีและไม่มีสารก่อภูมิแพ้
11.สื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจเรื่องความสำคัญของสารก่อภูมิแพ้
12.มีการสุ่มตรวจและทวนสอบมาตรการสม่ำเสมอ
อิโตะขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสังคมอาหารปลอดภัยในประเทศไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
คลิกที่นี่ เพื่อรู้จักเราเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓๘๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ
2.CODE OF PRACTICE ON FOOD ALLERGEN MANAGEMENT FOR FOOD BUSINESS OPERATORS (CXC 80-2020) online: https://www.fao.org/fao-who-codexalimentarius/sh-proxy/en/?lnk=1&url=https%253A%252F%252Fworkspace.fao.org%252Fsites%252Fcodex%252FStandards%252FCXC%2B80-2020%252FCXC_080e.pdf
Related Post
-
ข่าวสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร: ฉบับครึ่งปีหลังของ 2024
อัปเดตข่าวเด่นในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ครึ่งปีหลัง 2024 ติดตามเหตุการณ์สำคัญ เช่น การระบาดของโรคจากอาหาร (Food Outbreak) และ การปรับปรุงกฎหมายอาหาร (Regulation Update) ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทั่งในไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากการจัดการโรคระบาดหรือการปรับตัวของผู้ผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ มาดูว่าปีนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้างในโลกของอุตสาหกรรมอาหาร
-
ข่าวสารอุตสาหกรรมอาหาร: ฉบับครึ่งปีแรก 2024
สรุปข่าวสำคัญในวงการอุตสาหกรรมอาหารช่วงครึ่งปีแรกของ 2024! มาตรฐานใหม่ ความปลอดภัยอาหาร และนโยบายสำคัญที่คุณไม่ควรพลาด อ่านต่อเพื่ออัปเดตข้อมูลสำคัญและเตรียมพร้อมสำหรับเทรนด์อนาคตในระบบอาหาร
-
เมทานอล vs เอทานอล ความแตกต่างที่คุณควรรู้
เรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภคเมทานอลและความแตกต่างระหว่างเอทานอลกับเมทานอล ค้นพบแหล่งที่มาของเมทานอลในอาหาร อาการพิษที่เกิดขึ้น และข้อควรระวังที่สำคัญเพื่อปกป้องความปลอดภัยของคุณและคนที่คุณรักจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง