ITO Thailand Hygiene Blog

Mar 14 2022

Plant-based food

            Plant-based food หรือ อาหารจากพืช หมายถึง อาหารที่ผลิตโดยใช้ส่วนประกอบทั้งหมดจากพืช ซึ่งอาจจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มก็ได้(1)  โดยที่เราได้ยินและคุ้นหูมากที่สุด คือ Plant-based meat หรือ เนื้อสัตว์จากพืช ซึ่งหมายถึง เนื้อสัตว์ที่ผลิตโดยใช้ส่วนประกอบทั้งหมดจากพืช ผลิตโดยใช้นวัตกรรมในการพัฒนา แต่งกลิ่น สี รสชาติ และเนื้อสัมผัสของอาหารให้มีความคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ ให้ผู้บริโภคสามารถปรับตัวมารับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารวีแกนได้ง่ายขึ้น

            โดยทั่วไปเนื้อสัตว์จากพืชจะมีภาพลักษณ์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นที่นิยมในผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติที่เลือกไม่รับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ (แต่ยังสามารถทานผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสัตว์ได้ เช่น นม ไข่ น้ำผึ้ง) ที่แตกต่างจากผู้บริโภคอาหารวีแกน ที่เลือกเลือกไม่รับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสัตว์ด้วย

            ในความเป็นจริงเชิงสุขภาพนั้น ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าอาหารจากพืชนั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าหรือน้อยกว่าอาหารทั่วไป เนื่องจากจำเป็นต้องพิจารณาว่ามีการปรุงแต่งรสมาก-น้อยเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น เนื้อสัตว์จากพืช อาจมีการปรุงรสด้วยโซเดียมในปริมาณที่สูง โดยส่วนมากโซเดียมมักจะอยู่ในรูปของเกลือ ซึ่งเป็นที่นิยม มีประโยชน์ และมักใช้อย่างทั่วไปในวงการอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะในกระบวนการแปรรูปอาหารที่มีการใช้มากเป็นพิเศษ โดยโซเดียมมีหน้าที่ช่วยปรุงรสให้กลมกล่อม ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ปรับปรุงเนื้อสัมผัสให้ดีขึ้น(2) เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม การบริโภคโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไป มีส่วนสำคัญในการส่งผลให้ความดันโลหิตสูง(3) เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) จึงจำเป็นต้องมีการกำกับและดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไป ว่า อย. ซึ่งเป็นผู้ที่ออกกฎระเบียบและควบคุมมาตรฐานอาหารของประเทศไทย โดยทาง อย. ได้กำหนดให้ปริมาณการบริโภคโซเดียมที่แนะนำต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI: Recommend Daily Intake) ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม4 ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่มีการกำหนดไว้ไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม เนื่องจากโซเดียมส่งผลต่อปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจึงเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่จะปรับลดลงไปเรื่อยๆ แต่ทว่าตัวเลขนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของร่างกาย เราจึงอาจเห็นถึงความแตกต่างในกฎหมายอาหารต่างประเทศ เช่น Dietary Guidelines for Americans, 2020-2025  ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำไว้ที่ไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม (4) 

            ไม่เพียง Plant-based meat เท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สนใจอีกมากมาย เช่น ในประเทศออสเตรเลีย มีผลิตภัณฑ์ Plant based condensed milk alternative (5) จากบริษัท Nestlé ซึ่งได้เริ่มวางขายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ มีส่วนประกอบหลักจาก แป้งข้าวเจ้า (rice flour) และแป้งข้าวโอ๊ต (oat flour) เหมาะสำหรับใช้ทดแทนนมข้นหวานแบบปกติ และสามารถใช้ทำขนม เบเกอรี่ ไอศกรีม โดยเน้นทำตลาดสำหรับผู้บริโภคอาหารวีแกนที่งดการบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ทุกชนิด รวมถึงผู้บริโภคที่แพ้นมวัวหรือมีภาวะ lactose intolerance สามารถทานได้อย่างไร้กังวลอีกด้วย

            แต่ทว่าจากการสำรวจราคาตลาดของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน (มกราคม พ.ศ. 2565) ยังพบว่า ด้วยราคาที่ไม่ได้ถูกกว่าเนื้อสัตว์ปกติ ทำให้ผู้บริโภคอาจตัดสินใจไม่เปลี่ยนไปทานเนื้อสัตว์จากพืช แต่ราคาในตลาดต่างประเทศนั้นมีความใกล้เคียงกัน จึงเป็นผลดีต่อผู้บริโภคให้สามารถลองบริโภค และตัดสินใจเลือกได้ง่ายกว่านั่นเอง

            สำหรับความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียนเมื่อได้ลองบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชแล้ว พบว่าถึงแม้จะมีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ในระดับที่สูงมาก แต่ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างเล็กน้อยทั้งรสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัส โดยในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์การอาหารทั่วโลกกำลังมุ่งมั่นพัฒนา และทำงานอย่างหนัก เพื่อลดช่องว่างของความแตกต่างของเนื้อสัตว์จากพืชและเนื้อสัตว์แท้ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้นวัตกรรมอาหารจะก้าวล้ำจนเราไม่สามารถแยกแยะก็เป็นได้

            ในปัจจุบันด้วยกระแสการบริโภคอาหารมังสวิรัติ และอาหารวีแกน รวมถึงการที่นวัตกรรมอาหารนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลดีต่อวงการอาหาร เนื่องจากเป็นการผลักดันให้ผู้ผลิต คิดค้นพัฒนาอาหารทางเลือก และยังเปิดโอกาสสำหรับผู้บริโภคทุกๆ กลุ่มอย่างเท่าเทียมอีกด้วย อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างสุดโต่งหรือมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี เราจึงควรรับประทานอาหารให้พอเหมาะ หลากหลาย คำนึงถึงคุณค่าทางสารอาหารทุกครั้ง รวมถึงการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

            ทางอิโตะไทยแลนด์ ขอสนับสนุนให้ทุกคนรับประทานอย่างมีความสุข ปลอดภัย เพื่อผลดีต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวอย่างยั่งยืน

คลิกที่นี่ เพื่อรู้จักเราเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

1.National Heart Foundation of Australia. What is plant-based eating [Internet]. [cited 27 Jan 2022]. Available from https://www.heartfoundation.org.au/heart-health-education/what-is-plant-based-eating

2.Center for Disease Control and Prevention. The Role of Sodium in Your Food [Internet]. 2020 [cited 27 Jan 2022]. Available from https://www.cdc.gov/salt/role_of_sodium.htm

3.Center for Disease Control and Prevention. Sodium [Internet]. 2021 [cited 27 Jan 2022]. Available from https://www.cdc.gov/heartdisease/sodium.htm

4.กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 392) พ.ศ.2561 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฉลากโภชนาการ (ฉบับที่ 3). พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522. (ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561).

5.Nestlé Australia. Nestlé unveils sweet new ingredient for vegan bakers [Internet]. 2021 [cited 27 Jan 2022]. Available from https://www.nestle.com.au/en/media/new-ingredient-vegan-bakers

Related Post