ITO Thailand Hygiene Blog
อาหารปลอม หรือ Food fraud
อาหารปลอม หรือ Food fraud หมายถึง อาหารที่เกิดจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจและโดยเจตนา(1) เช่น การนำเสนอ ปลอมปน เจือจาง หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลคุณภาพของอาหาร ส่วนประกอบ วัตถุดิบ ภาชนะบรรจุ หรือกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้องบนฉลาก เพื่อจุดประสงค์ในการหลอกหลวงผู้บริโภคและมุ่งรับประโยชน์อันมิชอบจากการกระทำนั้น ซึ่งการกระทำที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ การสับเปลี่ยนวัตถุดิบบางชนิดออกไปเพื่อใช้วัตถุดิบอื่นที่มีราคาถูกกว่า และการลดต้นทุนในการผลิตหรือการลดมาตรฐานการตรวจสอบและความปลอดภัย(2)
อาหารปลอมก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงด้านความปลอดภัยของอาหารและสาธารณสุข ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสินค้า ต่อชื่อเสียงขององค์กร ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมอาหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเศรษฐกิจ โดยจากรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากอาหารปลอมนั้นมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านยูโรต่อปี (3) (มูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)
รูปแบบการฉ้อโกง สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 รูปแบบ (1) ได้แก่
1.การเจือจาง (Dilution) หมายถึง กระบวนการผสมส่วนประกอบที่มีมูลค่าสูงกับส่วนประกอบที่มีมูลค่าต่ำกว่า
2.การทดแทน (Substitution) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนวัตถุดิบด้วยสิ่งอื่นที่มีมูลค่าต่ำกว่า
3.การปกปิด (Concealment) หมายถึง กระบวนการปกปิดวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพต่ำ
4.การปรับปรุงที่ไม่ได้รับการอนุมัติ (Unapproved enhancement) หมายถึง กระบวนการเติมสารประกอบที่ไม่รู้จักและไม่ได้ประกาศลงในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านคุณภาพ
5.การปลอม (Counterfeit) หมายถึง การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
6.การติดฉลากผิด (Mislabelling) หมายถึง การบิดเบือนหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์
7.การโจรกรรม (Grey market, forgery) หมายถึง การค้าสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ผลิตหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า
โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของอาหารปลอมจากข่าวในประเทศไทย คือ หัวกุ้งยัดตะกั่ว เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการขาย หรือการฉีดเจลในหัวกุ้ง เพื่อเพิ่มน้ำหนักและทำให้มีรูปลักษณ์น่ารับประทาน ซึ่งนอกจากประเด็นในเรื่องอาหารปลอมแล้ว ตะกั่วเป็นโลหะหนักซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย พิษตะกั่วสามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยหรือผิดปกติต่อร่างกายได้ หรือเจลที่ใช้มักจะไม่ใช่เจลที่ปลอดภัยต่อการบริโภค (Non-food grade) และนำมาใช้กับอาหารไม่ได้ เนื่องจากการอาหารปลอมเหล่านี้มักจะคำนึงถึงการลดต้นทุน จึงมักเลือกใช้สิ่งที่มีราคาถูกที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคนั่นเอง ดังนั้นเราควรใช้ความระมัดระวัง และสังเกตลักษณะภายนอก สี และน้ำหนักของกุ้งว่าผิดปกติหรือไม่ทุกครั้งเมื่อเลือกซื้อกุ้ง
อีกหนึ่งข่าวอื้อฉาวของอาหารปลอม คือ การเจือปนเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมและนมผงในประเทศจีน (5) เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีการเติมเมลามีนลงไปในนมเพื่อให้ดูเหมือนว่านมนั้นมีปริมาณโปรตีนที่สูงและสามารถผ่านการทดสอบ โดยบริษัทผู้ผลิตได้รับทราบว่าผลิตภัณฑ์นมของตนมีการปนเปื้อนเมลามีน แต่กลับเพิกเฉย และไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปล่อยปละละเลยให้เด็กดื่มนมที่ปนเปื้อนเมลามีนเป็นเวลานานหลายเดือน จนมีรายงานเด็กทั่วประเทศป่วยกว่า 3 แสนคน และเสียชีวิต 6 คน จากภาวะนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ หลังจากการสืบสวนนานหลายเดือน มีการฟ้องร้องคดีอาญา และสุดท้ายแล้วมีผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับโทษจากเรื่องนี้ต่างๆ ได้แก่ ปรับเงิน ไล่ออกจากตำแหน่ง จำคุก และมีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วย โดยเหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศจีนอย่างร้ายแรง ส่งผลให้คู่ค้าต่างประเทศระงับการนำเข้าจากนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากจีนทั้งหมด นับเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจอันประเมินค่ามิได้
ในฐานะผู้บริโภค นับเป็นความท้าทายและยากลำบากในระดับหนึ่งสำหรับการป้องกันอาหารปลอม อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ผลิตนั้น ได้มีแนวทาง ข้อกำหนด และมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีการจัดทำการป้องกันอาหารปลอมเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ระบบวิเคราะห์อันตรายและการควบคุมจุดวิกฤต (Hazard Analysis Critical Control Point; HACCP) รวมถึงมีการประเมินภัยคุกคามและการควบคุมจุดวิกฤต (Treat Assessment Critical Control Point; TACCP) และการประเมินช่องโหว่และการควบคุมจุดวิกฤต (Vulnerability Assessment Critical Control Point; VACCP) รวมถึงใบรับรองต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Global Food Safety Initiative (GFSI) เช่น BRC Issue 8 (6) , FSSC 22000 v5.1, SQF Codes Edition 9 เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดข้อกำหนดเหล่านี้ทางเราจะมาพูดถึงในโอกาสต่อไป เนื่องจากข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหารนั้น มีการปรับปรุงตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัยและเหมาะสมกับปัจจุบัน เช่น BRC Issue 9 ที่คาดว่าจะเผยแพร่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเราจะมาติดตามดูกันว่ามีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงในจุดใดบ้าง
ทางอิโตะไทยแลนด์ ขออยู่เคียงค้างผู้บริโภค โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิตร่วมกับผู้ผลิตอาหาร ให้มีมาตรฐาน ถูกหลักอนามัย ถูกต้องตามกฎหมายอาหาร โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ด้วยบริการเสนอมาตรการจัดการสุขอนามัยให้สอดรับกับหน้างานของโรงงานผลิตอาหารแต่ละแห่ง กระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย การจัดการด้านสุขอนามัยและให้คำปรึกษากับผู้ปฏิบัติงานในหน้างาน รวมถึงให้บริการหลังการขายแบบครบวงจร
คลิกที่นี่ เพื่อรู้จักเราเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
1.European Commission. Food fraud: What does it mean? [Internet]. [cited 15 Feb 2022]. Available from https://ec.europa.eu/food/safety/agri-food-fraud/food-fraud-what-does-it-mean_en
2.Breanna Gabbert. Eyes bigger than their stomach: Deceit in the Australian food market [Internet]. 2021 [cited 15 Feb 2022]. Available from https://www.counterfraud.gov.au/news/general-news/eyes-bigger-their-stomach-deceit-australian-food-market
3.Food and Agriculture Organization of the United Nations. Food fraud: Intention, detection and management [Internet]. 2021 [cited 15 Feb 2022]. Available from https://www.fao.org/3/cb2863en/cb2863en.pdf
4.Australian Food News. The 12 foods that top corruption by food fraud [Internet]. 2016 [cited 15 Feb 2022]. Available from https://www.ausfoodnews.com.au/2016/11/28/the-12-foods-that-top-corruption-by-food-fraud.html
5.Tania Branigan. Chinese figures show fivefold rise in babies sick from contaminated milk [Internet]. 2008 [cited 16 Feb 2022]. Available from https://www.theguardian.com/world/2008/dec/02/china
6.Paweena Maneepon. Understanding Food Fraud [Internet]. 2020 [cited 15 Feb 2022]. Available from https://www.bsigroup.com/globalassets/localfiles/en-th/webinars/understanding-food-fraud-webinar.pdf
Related Post
-
เมทานอล vs เอทานอล ความแตกต่างที่คุณควรรู้
เรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภคเมทานอลและความแตกต่างระหว่างเอทานอลกับเมทานอล ค้นพบแหล่งที่มาของเมทานอลในอาหาร อาการพิษที่เกิดขึ้น และข้อควรระวังที่สำคัญเพื่อปกป้องความปลอดภัยของคุณและคนที่คุณรักจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?