ITO Thailand Hygiene Blog

Jun 06 2022

Food grade material

            ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน เรามักจะเคยได้ยินคำว่า “Food grade” หรือ “Food safe” ซึ่งทั้งสองคำนั้นมีความคล้ายคลึงกัน แต่ทว่ามีความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้ “Food grade” หมายถึงวัสดุที่เหมาะสมกับการสัมผัสอาหารโดยตรง ส่วน “Food safe” นั้นหมายถึง วัสดุ Food grade และผลิตภัณฑ์นั้นมีความเหมาะสมต่อการใช้งาน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอาหาร [1]

            การใช้งานวัสดุที่ไม่ปลอดภัยต่อการสัมผัสอาหาร หรือ Non-food grade นั้นมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนในชีวิตประจำวันของเรา เช่น วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก คือ โพลีคาร์บอเนต ซึ่งมีส่วนประกอบของสารเคมี Bisphenol A หรือ BPA มีคุณสมบัติช่วยให้ภาชนะเหล่านั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น คงทนต่อการแตกหัก เพิ่มความสวยและใส แต่ว่าหากใช้งานไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง และวัสดุมีการเสื่อมคุณภาพ ผ่านการให้ความร้อนสูง BPA สามารถสามารถแทรกซึมลงไปปนเปื้อนในอาหารได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายโดยเฉพาะต่อระบบต่อมไร้ท่อ ต่อการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ต่อระบบสืบพันธุ์ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยระดับความอันตรายจะรุนแรงกว่ามากในเด็กทารก เนื่องเด็กมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ และจากการปนเปื้อน BPA จากขวดนมนั่นเอง [2][3]

            อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ ทาเลท (Phthalate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการเพิ่มความอ่อนตัวและความยืดหยุ่นในพลาสติกซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับ BPA โดยมักจะได้รับทาเลทจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนทาเลท หรือการหายใจสูดอนุภาคพาเลทในอากาศ โดยกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือเด็กๆ เนื่องจากเด็กๆ มักวิ่งเล่น คลาน และสัมผัสสิ่งต่างๆ จากนั้นนำมือเข้าปาก จึงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่นั่นเอง อย่างไรก็ตามร่างกายมนุษย์สามารถขับถ่ายพาเลทออกได้ทางปัสสาวะ และมีรายงานว่าพบการปนเปื้อนของทาเลทในร่างกายผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากทาเลทมักจะเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์จำพวก สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสระผม เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งอันตรายของทาเลทต่อมนุษย์นั้นยังอยู่ระหว่างการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม ว่าส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ระบบสืบพันธุ์ ต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ในระดับใด [2][4] ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถลดความเสี่ยงได้ง่ายๆ โดยเลือกซื้อภาชนะที่มีการระบุ “BPA free” และ “Phthalate free” เป็นต้น

            วัสดุที่เหมาะสมต่อการพิจารณาว่า “Food grade” นั้นมักจะไม่มีสารพิษหรือส่วนผสมใดๆ ที่จะปะปนลงไปในอาหาร หรือก่อให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงมีความแข็งแรง คงทนต่อการใช้งาน และสามารถทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง ไม่มีร่องหลืบ หรือจุดอับที่จะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการหมักหมมของเศษอาหารและการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรค โดยหนึ่งในวัสดุ Food grade ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด คือ สแตนเลส

            สแตนเลสมีหลายเกรด เช่น สแตนเลสเกรด 316 (SUS 316) สแตนเลสเกรด 304 (SUS 304) เป็นต้น โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกเกรดของสแตนเลสนั้น คือ ความสามารถในการทนทานต่อสารเคมีและการกัดกร่อน ซึ่งเราจำเป็นที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน เช่น สแตนเลสเกรด 316 ซึ่งมีราคาสูงกว่านั้น มีความสามารถคงทนต่อการกัดกร่อนมากกว่าสแตนเลสเกรด 304 ผู้ประกอบการจึงมักเลือกใช้สแตนเลสเกรด 316 ในอุปกรณ์หรือบริเวณที่สัมผัสอาหารโดยตรง โดยเฉพาะอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น บริเวณถังกวนส่วนผสม และเลือกใช้สแตนเลสเกรด 304 ที่มีราคาย่อมเยากว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่สัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น โครงสร้างของเครื่องจักร หรือสามารถใช้สัมผัสโดยตรงได้เช่นกันในกรณีอาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ เป็นต้น รวมถึงยังมีเกรดย่อย เช่น เกรด 304L ที่มีการลดองค์ประกอบของคาร์บอน ช่วยลดการตะกอนของคาร์ไบด์และลดการกัดกร่อนในระหว่างการเชื่อม จึงมักจะใช้เกรด 304L ในส่วนการเชื่อมถึงแม้จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าเกรด 304 ก็ตาม หรือเกรด 304H ที่มีการเพิ่มองค์ประกอบของคาร์บอน ส่งผลให้คงทนต่ออุณหภูมิที่สูงกว่าเกรด 304 จึงมักนิยมใช้เกรด 304H ในจุดที่มีสภาวะอุณหภูมิสูงนั่นเอง

            ในความเป็นจริงนั้น ต้องยอมรับว่าสแตนเลสเกรด 304 มักจะได้รับความนิยมมากกว่าสแตนเลสเกรด 316 เนื่องจากมีราคาที่ย่อมเยาจึงเข้าถึงได้ง่ายกว่า มีทนทานต่อการกัดกร่อนทั่วไป สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และรักษาสภาพที่ถูกหลักสุขอนามัยได้ยั่งยืน อิโตะไทยแลนด์ มีรายการสินค้าซึ่งตอบสนองต่อความต้องการการผู้ผลิต เราใช้วัสดุสแตนเลสเกรด 304 ในส่วนประกอบของสินค้าต่างๆ ที่เหมาะสมกับโรงงานผลิตอาหาร เช่น เครื่องดูดฝุ่นและเส้นผม (Dust cleaner) เครื่องทำความสะอาดรองเท้าบูท (Boot cleaner) เครื่องตรวจจับโลหะ (Metal detector) ระบบตรวจสอบน้ำหนัก (Weight checker and system) เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode reader) [Link to product solution] และอีกมากมายตามความต้องการของลูกค้า
และเรายังรับปรึกษา รวมถึงแก้ปัญหาในโรงงานอาหารตามความต้องการ ให้การอบรมเกี่ยวกับหลักสุขอนามัย รวมถึงบริการหลังการขายอย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบความปลอดภัยสำหรับโรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร เพื่อสังคมอาหารปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้
 

เอกสารอ้างอิง

1.Food care. Food Grade vs Food Safe – What is the difference? [Internet]. 2020 [cited 19 Mar 2022]. Available from https://www.foodcare.com.au/blog/post/Food-Grade-vs-Food-Safe-What-is-the-difference?

2.Is plastic food packaging dangerous? [Internet]. 2014 [cited 19 Mar 2022]. Available from https://www.choice.com.au/food-and-drink/food-warnings-and-safety/plastic/articles/plastics-and-food

3.Catherine Viguié, Sakina Mhaouty-Kodja, René Habert, Cécile Chevrier, Cécile Michel, Elodie Pasquier. Evidence-based adverse outcome pathway approach for the identification of BPA as en endocrine disruptor in relation to its effect on the estrous cycle, Molecular and Cellular Endocrinology, Volume 475, 2018, Pages 10-28, ISSN 0303-7207, https://doi.org/10.1016/j.mce.2018.02.007. (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0303720718300674)

4.Centers for Disease Control and Prevention. Phthalates Factsheet [Internet]. 2021 [cited 19 Mar 2022]. Available from https://www.cdc.gov/biomonitoring/Phthalates_FactSheet.html

Related Post