ITO Thailand Hygiene Blog
Organic Food
อาหารออร์แกนิค คือ อาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์ ถั่ว นม ไข่ เป็นต้น ที่ผ่านการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และไม่ผ่านการตัดแต่งสารพันธุกรรม (Genetically modified organisms; GMO) ซึ่งโดยปกตินั้นอาหารออร์แกนิคไม่จำเป็นที่จะต้องปราศจากสารเคมีอย่าง 100% แต่อาจมีปริมาณสารตกค้างที่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วๆ ไป รวมถึงอาจประกอบไปด้วยสารกำจัดศัตรูพืชจากธรรมชาติได้เช่นกัน[1] โดยสารที่มักพบ ได้แก่
1.ไพรีทรินส์[2] เป็นสารสกัดจากดอกไม้ที่ช่วยกำจัดยุง แมลงวัน ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ โดยส่วนมากก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และได้รับการอนุมัติใช้ในการทำฟาร์มออร์แกนิคได้
2.น้ำมัน[3] นิยมใช้แทนยาฆ่าแมลง และสารฆ่าเชื้อรา เนื่องจากปลอดภัยต่อการบริโภค
3.คอปเปอร์ซัลเฟต[4] นิยมใช้แทนสารฆ่าเชื้อรา ได้รับการอนุมัติโดยกระทรวงเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture; USDA) อย่างไรก็ตามการใช้งานในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายก่อมนุษย์ได้ เช่น การระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา เป็นต้น
ผู้บริโภคอาหารออร์แกนิคนั้นจะได้รับ ปริมาณสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุไม่แตกต่างกับอาหารที่ไม่ออร์แกนิค อย่างไรก็ตามจะมีปริมาณสารเคมีสังเคราะห์ และยากำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนน้อยกว่า จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการบริโภคเพื่อลดการสะสมของสารอันไม่ถึงประสงค์เพื่อสุขภาพในระยะยาวนั่นเอง รวมถึงอาหารออร์แกนิคนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต และการปศุสัตว์ตามหลักจริยธรรมเนื่องจากสัตว์จะถูกเลี้ยงในพื้นที่เปิด และไม่ได้รับสารเคมีต่างๆ เช่น ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต สเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
การรับรองอาหารออร์แกนิคในระดับสากล
มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าออร์แกนิค โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารออร์แกนิคได้อย่างมั่นใจ ตามกฏเกณฑ์ของประเทศต่างๆ โดยอาจเป็นเครื่องหมายที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น
1.USDA Organic [5] สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็น พืช สัตว์ ผลิตภัณฑ์แปรรูป พืชป่า ส่วนสัญลักษณ์สำหรับแสดงบนบรรจุภัณฑ์นั้นจะแบ่งแยกย่อยออกเป็น 4 ประเภท ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของส่วนประกอบออร์แกนิค และลักษณะของบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ 100% Organic, Organic, Made with Organic ______, Specific Organic Ingredient Listings
2.Australian Certified Organic Standard (ACOS) [6] สำหรับประเทศออสเตรเลีย มีเกณฑ์ตามเปอร์เซ็นต์ของส่วนประกอบออร์แกนิคคล้ายกับของประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง ACOS ยังได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปอีกด้วย
3.The Organic Logo [7] สำหรับสหภาพยุโรป เป็นสัญลักษณ์กลุ่มดาวเรียงตัวเป็นใบไม้บนพื้นสีเขียว สำหรับสินค้าอาหารออร์แกนิคซึ่งผลิต ขาย และอยู่ในบรรจุภัณฑ์สำหรับขายในสหภาพยุโรป หรือสินค้านำเข้าซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรป เป็นต้น โดยสินค้าอาหารที่สามารถใช้เครื่องหมายนี้ได้ต้องมีส่วนประกอบออร์แกนิคไม่น้อยกว่า 95%
ความเกี่ยวข้องของอาหารออร์แกนิคต่อวงการอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย
ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดอาหารออร์แกนิคมีมูลค่ามหาศาล ข้อมูลจากการประเมินศูนย์วิจัยกสิกรไทย (สิงหาคม 2561) [8] พบว่าตลาดอาหารออร์แกนิคมีมูลค่าสูงถึง 2,700-2,900 ล้านบาท และตัวเลขนี้จะสูงขึ้นเนื่องจากแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมีมากขึ้น รวมถึงการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์อย่างยั่งยืนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ
นอกจากนี้แล้ว ภายในงานจัดแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค “THAIFEX – Anuga Asia” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีโดยมีผู้จัดแสดงสินค้ามากกว่า 2,500 รายจาก 40 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 60,000 คน ตลอดระยะเวลา 5 วัน ภายในงานมีโซน “Organic Market” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดนี้เป็นที่สนใจของผู้บริโภค มีการประเมินว่าความต้องการสินค้าออร์แกนิคในภูมิภาคนี้จะมีสัดส่วนมากกว่า 12% ของรายได้ทั่วโลกภายในปี 2568 [9]
อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของตลาดอาหารออร์แกนิค คือ สินค้าเหล่านี้มีราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปในตลาด เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตมากขึ้น รวมถึงการควบคุมคุณภาพที่พิถีพิถัน จึงไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มได้
ก้าวสำคัญต่อไป คือ การพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตสินค้า การวิจัยและปรับปรุงระบบประกันคุณภาพสินค้า การใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน รวมถึงนโยบายจากภาครัฐหรือการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ ทำให้สามารถจำหน่ายอาหารออร์แกนิคได้ในราคาที่ถูกลง สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยสำหรับการส่งออกให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามกฏเกณฑ์สำหรับประเทศต่างๆ นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1.Better Health Channel. Organic food [Internet]. 2020 [Cited 18 Apr 2022]. Available from https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/organic-food
2.Bond, C.; Buhl, K.; Stone, D. 2014. Pyrethrins General Fact Sheet; National Pesticide Information Center, Oregon State University Extension Services. http://npic.orst.edu/factsheets/pyrethrins.html
3.E. Bogran, Scott Ludwig and Bradley Metz. Using Oils As Pesticides [Internet]. 2022 [Cited 18 Apr 2022]. Available from https://agrilifeextension.tamu.edu/library/farming/using-oils-as-pesticides
4.Andrew Porterfield. Viewpoint: Organic fungicide copper sulfate and other copper products widely used by wine growers endangers humans, animals and insects [Internet]. 2020 [Cited 18 Apr 2022]. Available from https://geneticliteracyproject.org/2020/07/23/organic-fungicide-copper-sulfate-poses-dangers-to-humans-animals-insects-how-does-it-compare-to-conventional-pesticides
5.USDA Agricultural Marketing Service. About Organic Labeling [Internet]. 2022 [Cited 19 Apr 2022]. Available from https://www.ams.usda.gov/rules-regulations/organic/labeling
6.Australian Organic. Australian Certified Organic Standard [Internet]. 2022 [Cited 19 April 2022]. Available from https://austorganic.com/industry/certification-and-standards/standards/acos
7.European Commission. The organic logo [Internet]. 2022 [Cited 19 Apr 2022]. Available from https://ec.europa.eu/info/food-farming-fisheries/farming/organic-farming/organic-logo_en
8.K SME Analysis. ตลาดออร์แกนิค ธุรกิจสร้างเงิน SME ไทย [Internet]. 2018 [Cited 18 Apr 2022]. Available from https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Documents/Thai-SME_Organic-Product.pdf
9.THAIFEX-Anuga. THAIFEX – Anuga Organic Market [Internet]. 2022 [Cited 19 Apr 2022]. Available from https://thaifex-anuga.com/en/event-highlights/thaifex-anuga-organic-market
Related Post
-
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอุตสาหกรรมอาหาร
เราสามารถนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มองไม่เห็น มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างไรบ้าง?
-
โปรตีนจากแมลงที่กินได้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้สร้างความตระหนักถึงการบริโภคอย่างยั่งยืน เราได้พูดคุยกันว่าอาหารจากพืช สามารถให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างไร และการยอมรับของผู้บริโภคต่ออาหารทดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากการบริโภคเนื้อสัตว์มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นักวิจัยจึงได้ค้นพบแหล่งอาหารแห่งใหม่ที่มีโปรตีนสูงและยั่งยืนนั่นก็คือแมลง
-
บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ
บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพหมายถึงบรรจุภัณฑ์ใดที่จะแตกสลายและย่อยสลายตามธรรมชาติตรงตามชื่อ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับหลายองค์กร ในบล็อกที่แล้ว ได้กล่าวถึงประเด็นที่คล้ายกันคือ พลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างระหว่างกันบางประการ ตัวอย่างเช่น พลาสติกชีวภาพ ทำมาจากวัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาจากแหล่งธรรมชาติและหมุนเวียนและอาจหรือไม่อาจย่อยสลายทางชีวภาพก็ได้ ในทางตรงกันข้าม พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติผ่านสิ่งมีชีวิตไม่ว่าวัสดุจะกำเนิดมาจากแหล่งใด ในบล็อกนี้จะกล่าวถึงประวัติการพัฒนาของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ วัสดุที่ใช้บ่อย ข้อดีและข้อเสียของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ และแนวโน้มในอนาคตของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ
-
การเกษตรแบบแม่นยำ
การเกษตรแบบแม่นยำได้ปฏิวัติวิธีการจัดการการเพาะปลูกโดยการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ตรงกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ระบบใหม่ แต่เทคโนโลยีล่าสุดทำให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติในการผลิตได้จริง ในบล็อกนี้ เราจะพูดถึงคำจำกัดความของการเกษตรแบบแม่นยำ ข้อดีข้อเสีย และแนวโน้มในอนาคต
-
เกษตรกรรมแนวตั้ง
การเกษตรได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่เกือบทั้งหมด ทำให้การหาที่ดินบนผิวโลกทำได้ยากขึ้น ด้วยทรัพยากรที่จำกัด การตอบสนองความต้องการด้านอาหารของโลกจึงต้องมีวิธีการที่สร้างสรรค์และเชื่อถือได้มากขึ้นในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย และคำตอบคือเกษตรกรรมแนวตั้งนั่นเอง
-
บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ
หากไม่มีบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาหารจะสามารถอยู่ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่สามารถจัดการด้านโลจิสติกส์ได้ มีความยากลำบากในระบบห่วงโซ่อุปทาน การเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคที่มีความเสี่ยงในอาหาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีฟังก์ชันอีกมากมายที่บรรจุภัณฑ์มีส่วนช่วยในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่นเดียวกับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะหลายประเภท ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ดังนั้นในบล็อกนี้ เราจะพูดถึงการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะในผลิตภัณฑ์อาหาร