ITO Thailand Hygiene Blog
ความท้าทายในการจัดการขยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน
เราจะมีการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนสำหรับอนาคตและผู้คนในรุ่นถัด ๆ ไปได้อย่างไร? หนึ่งในทางออกอาจเป็นการเริ่มต้นด้วยการจัดการปัญหาขยะและของเสียในองค์กร ที่ผลกระทบของมันอาจกว้างกว่าที่คุณคิด
ความยั่นยืน (sustainability) มักเป็นประเด็นที่ผู้คนในยุคปัจจุบัน หยิบยกมาพูดคุยเพื่อวางแผนสำหรับอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป รวมไปถึงในอุตสาหกรรมอาหารด้วย ในบทความที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงที่มาที่ไป ความสำคัญ และตัวอย่างการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอาหารมีความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนชนิดของบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ การจัดการพลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ เป็นต้น
การจัดการขยะเพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร Waste management in food supply chain
หนึ่งในนโยบายพัฒนาความยั่งยืนให้กับองค์กรอุตสาหกรรมอาหารมักเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดวัตถุดิบส่วนที่เหลือทิ้ง, การนำวัตถุดิบที่เหลือทิ้งไปแปรรูปหรือขายต่อให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การสกัดสารฟังก์ชัน สกัดน้ำมัน ใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ หรืออาหารสัตว์ เป็นต้น, ในกรณีของอุตสาหกรรมอาหารส่วนปลายทาง เช่น ร้านค้าปลีก อาจมีการพิจารณา ปรับปรุงปริมาณการสั่งสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการคลังสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริงของผู้บริโภค เพื่อลดปริมาณสินค้าหมดอายุ รวมไปถึงการจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อจำหน่ายสินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนร้านอาหารอาจพิจารณาภาชนะบรรจุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รายการอาหารที่สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบ และอาหารจากวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน เป็นต้น
นอกจากในส่วนของขยะจากวัตถุดิบอาหารแล้ว ขยะจากอุปกรณ์เครื่องมือที่พนักงานต้องใช้และทิ้งเป็นประจำ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณขยะขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัยที่ดีในการผลิตอาหาร เช่น ถุงมือพลาสติก ผ้าปิดปาก หมวกคลุมผม ลูกกลิ้งกระดาษ แผ่นกาวดักฝุ่นที่พื้น เป็นต้น ที่ต้องมีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอและก่อให้เกิดขยะเป็นจำนวนมาก
ผลกระทบของขยะในอุตสาหกรรมอาหาร Effects of agro-industry waste
•ต้นทุนในการผลิตและทรัพยากรขององค์กร
อุปกรณ์ที่ต้องใช้แล้วทิ้งเหล่านี้ นับเป็นต้นทุนปริมาณมากในการผลิตสินเค้า ยิ่งในกรณีที่พนักงานมีปริมาณมากก็ต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอกับพนักงานเช่นกัน ซึ่งนอกจากคิดเป็นจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการพื้นที่จัดเก็บสต็อกอุปกรณ์ เพื่อจัดเก็บอุปกรณ์ปริมาณมาก กระบวนการเบิกใช้งานและการจัดซื้อ กระบวนการกำจัดขยะหลังจากใช้งานเพื่อไม่ให้สิ่งปนเปื้อน ปนเปื้อนข้ามไปสู่อาหารได้ รวมถึงต้นทุนในการขนส่งขยะไปเพื่อทิ้งหรือกำจัดด้วย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณหรือน้ำหนักของขยะที่เกิดขึ้น
•สิ่งแวดล้อม
กระบวนการกำจัดขยะในประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินการ การกำจัดขยะอย่างถูกวิธี อาทิ การนำกลับไปใช้ประโยชน์ การหมักด้วยวิธีทางชีวภาพ การใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาที่ได้มาตรฐาน และการฝังกลบ ยังไม่สามารถรองรับปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี เช่น การเผาในที่โล่งหรือเตาที่ไม่ได้มาตรฐานด้านการจัดการมลภาวะ การลักลอบทิ้งขยะ และยังมีปริมาณขยะคงค้างที่ไม่สามารถกำจัดได้ทุกปี โดยในปี 2564 พบข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้อง มีปริมาณ 7.81 ล้านตัน และตกค้าง 7.50 ล้านตัน (1) โดยขยะบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดได้และทิ้งไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พฤติกรรมของสัตว์ป่าและนก ที่เปลี่ยนวิธีหาอาหารตามธรรมชาติเป็นรื้อค้นขยะ รวมถึงขยะเหล่านี้ มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทะเล มหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ เช่น ทำให้พืชน้ำไม่สามารถเจริญเติบโตได้เนื่องจากลอยบังแสงแดดบนผิวน้ำ สัตว์น้ำกินขยะเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ ขยะบางชนิดอาจพันรอบตัวสัตว์ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติจนต้องเสียชีวิต
ดังนั้น นอกจากการแยกขยะเพื่อให้ขยะประเภทที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ ได้มีโอกาสออกจากวงจรขยะ รวมถึงแยกขยะสดที่สามารถกำจัดด้วยวิธีชีวภาพออกไปแล้ว การลดปริมาณขยะอื่น ๆ ที่ต้นทางก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ยั่งยืนในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยรักษาชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศน์ของโลกนี้เช่นกัน
•สุขภาพของมนุษย์
นอกจากส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ แล้ว ขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนลงสู่ทะเล อาจแตกตัวมีขนาดเล็กเป็นอนุภาคระดับไมโครและนาโน เรียกว่า ไมโครพลาสติก และ นาโนพลาสติก ซึ่งเล็กพอที่จะแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ และส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยวิธีที่มนุษย์ได้รับพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้มากที่สุด คือการรับประทานสัตว์ทะเลที่มีการปนเปื้อน หรือการดื่มน้ำที่มีพลาสติกเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย รวมถึงการรับประทานวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น เกลือทะเล น้ำตาล น้ำผึ้ง เป็นต้น ผลกระทบที่ตามมาคือความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งและการทำงานผิดปกติของเซลล์อวัยวะต่าง ๆ (2) ดังนั้น ในที่สุดแล้ว ปัญหาขยะที่ไม่สามารถกำจัดอย่างถูกวิธีได้ก็จะวนกลับมาสู่มนุษย์ในที่สุด
กรณีศึกษานวัตกรรมในการลดปริมาณขยะ Waste reduction innovation case study
เนื่องจากการลดปริมาณขยะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น จึงมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อลดปริมาณขยะในอุตสาหกรรมอาหาร สำหรับครั้งนี้ เราขอยกกรณีศึกษาการทดแทนลูกกลิ้งกาวและพรมดักฝุ่นชนิดใช้แล้วทิ้ง ด้วยลูกกลิ้งและพรมดักฝุ่นชนิดใช้ซ้ำได้ เพื่อลดปริมาณการสร้างขยะโดยยังคงมาตรฐานในการป้องกันสิ่งปนเปื้อนจากพนักงานได้เช่นเดิม
⇒สภาวะในการเปรียบเทียบ
•ระยะเวลา 2 ปี
•กำหนดให้วันทำงาน 20 วัน/เดือน
•วัสดุดักฝุ่นเจลยูริเทนชนิดใช้ซ้ำ สามารถใช้ซ้ำได้ในระยะเวลา 2 ปี
•เปรียบเทียบระหว่างตัวอย่างที่ 1-2 และ 3-4
*ข้อมูลนี้เป็นไปตามตัวอย่างสภาวะการเปรียบเทียบที่กำหนดเท่านั้น
หากท่านมีความสนใจในการเปรียบเทียบสภาวะการลดปริมาณขยะ รวมไปถึงการลดต้นทุนในการซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ท่านสามารถ ติดต่อเรา เพื่อใช้ข้อมูลจริงของท่านในการคำนวณข้อมูลความคุ้มค่าและระยะเวลาคุ้มทุนในการเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
1.https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php?year=2564
2.Shams, M., Alam, I., & Mahbub, M. S. (2021). Plastic pollution during COVID-19: Plastic waste directives and its long-term impact on the environment. Environmental advances, 5, 100119.
Related Post
-
เมทานอล vs เอทานอล ความแตกต่างที่คุณควรรู้
เรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภคเมทานอลและความแตกต่างระหว่างเอทานอลกับเมทานอล ค้นพบแหล่งที่มาของเมทานอลในอาหาร อาการพิษที่เกิดขึ้น และข้อควรระวังที่สำคัญเพื่อปกป้องความปลอดภัยของคุณและคนที่คุณรักจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?