ITO Thailand Hygiene Blog

Feb 06 2023

4 ด้านความเสียหาย หากผลิตภัณฑ์อาหารของท่านไม่ปลอดภัย (Part 1)

4 ด้านความเสียหาย หากผลิตภัณฑ์อาหารของท่านไม่ปลอดภัย (Part 1)

            1.ความเสี่ยงด้านสุขภาพ

            ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยขึ้น อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ

            อันตรายทางกายภาพ

            อันตรายทางกายภาพในอาหารที่พบได้บ่อยมักเป็นของแข็งหรือแหลม ที่ทำลายระบบทางเดินอาหาร (อ่านเพิ่มเติม: อันตรายทางกายภาพ และ   การป้องกันและตรวจสอบ) โดยเป็นอันตรายที่เกิดได้บ่อยและเฉียบพลัน เช่น กรณีข่าวการรับประทานอาหารปนเปื้อนเศษฝอยขัดหม้อ ร้ายแรงถึงระดับการผ่าตัดฉุกเฉิน [1], ก้างปลาติดคอ ที่อาจปักลึกหรือมีการติดเชื้อขึ้นได้ [2], หรือกรณีข่าวฟันแตกจากการเคี้ยวกรวดที่ปนเปื้อนมาในข้าว [3] เป็นต้น

            อันตรายทางเคมี

            อันตรายทางเคมีที่ปนเปื้อนมาในอาหาร อาจเกิดจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ เช่น ฮอร์โมนในสัตว์ ยาฆ่าแมลง โลหะหนักในน้ำ, การเติมวัตถุเจือปนอาหาร สารเติมแต่งหรือสารกันบูดเกินกำหนด หรือการผสมที่ผิดพลาดทำให้อาหารบางส่วนมีสารเคมีมากเกินระดับปลอดภัย, การเติมสารต้องห้ามหรือสารอันตรายเพื่อปรับคุณภาพ เช่น สารฟอกขาว  ฟอร์มาลีน, สารเคมีที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น สารก่อมะเร็งกลุ่ม Acrylamide จากปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลเมลลาร์ด (Maillard reaction) ในอาหารที่ให้ความร้อนสูงจนเกิดสีน้ำตาล หรือการเกิดไขมันทรานซ์ในน้ำมันที่ถูกทอดซ้ำ ๆ ด้วยอุณหภูมิสูง ๆ เป็นต้น รวมไปถึงสารเคมีอื่น ๆ ที่มีการใช้งานในบริเวณสถานที่ผลิตอาหารและอาจมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนลงสู่อาหารด้วย เช่น สารทำความสะอาด สารหล่อลื่น สารฆ่าเชื้อโรค สารฆ่าสัตว์รบกวน (หนู,แมลง) เชื้อเพลิง เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม

            อาการทางร่างกายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารที่มีอันตรายทางเคมี อาจเป็นได้ทั้งเกิดอาการโดยเฉียบพลัน หากได้รับสารพิษมากในคราวเดียว เช่น อาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน ตาพร่า อ่อนเพลีย ท้องร่วง เป็นต้น หากได้รับสารพิษปริมาณมากอาจทำให้อวัยวะภายในบกพร่องหรือเสียชีวิตได้ หรือการสะสมและเป็นอันตรายในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง โรคมินามิตะจากสารปรอท โรคอิไต อิไต จากสารแคดเมียม การเกิดกรณีเชื้อดื้อยาเนื่องจากรับประทานเนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาฏิชีวนะ เป็นต้น

            ในปัจจุบันยังพบข่าวการปนเปื้อนสารเคมีในอาหารอยู่ เรื่อย ๆ เช่น ปลาหมึกแห้งปนเปื้อนแคดเมียม [4], สารเคมีตกค้างในส้ม [5], กรณีพบสารเคมี Triazophos ตกค้างในพริกแดงแช่แข็งเกินมาตรฐาน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นปรับระดับการสุ่มตรวจสารเคมีผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30% [6], รวมไปถึงกรณีพบสารก่อมะเร็ง (2-Chloroethanol) ในไอศกรีมจนต้องมีการเรียกคืนสินค้าในหลายประเทศ [7]

            อันตรายทางชีวภาพ

            อันตรายทางชีวภาพอาจเกิดจากจุลินทรีย์หรือสารพิษจากจุลินทรีย์ พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตไม่เป็นไปตามการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร เช่น วัตถุดิบมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์มากเกินกำหนด, กระบวนการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ เช่น การล้างทำความสะอาด การให้ความร้อน การลดปริมาณน้ำอิสระ การเพิ่มความเป็นกรด ฯลฯ เกิดความผิดพลาดหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ, การปนเปื้อนจุลินทรีย์ เช่น     การปนเปื้อนข้ามจากวัตถุดิบไปยังผลิตภัณฑ์, การปนเปื้อนจากพนักงาน, การปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยอาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคเพียงเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย ไม่สบายท้อง ไปจนถึงอาการรุนแรง ช็อก เสียชีวิตได้ รวมไปถึงอาจเกิดเป็นโรคระบาด (outbreak) ที่มีความเสียหายเป็นวงกว้างได้อีกด้วย

            ปัญหาอันตรายทางชีวภาพ เป็นเรื่องที่คิดว่าทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์ จากอาการปวดท้อง ท้องเสีย เมื่อรับประทานอาหารที่ผลิตอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบที่ไม่สดสะอาด หรือแม้แต่มีการสัมผัสโดยสัตว์พาหะต่าง ๆ  กรณีที่เป็นข่าวใหญ่ มีทั้งในระดับประเทศ เช่น กรณีข่าวประชาชนท้องเสียเป็นจำนวนมากที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564  จากการปนเปื้อนเชื้อ Norovirus [8] และข่าวการปิดโรงงานนมผงสำหรับทารกในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปี 2565 เนื่องจากพบการปนเปื้อนเชื้อ  Cronobacter จนมีทารกป่วย 4 รายและเสียชีวิต 2 ราย จนเกิดวิกฤติการขาดแคลนนมผงขึ้นในสหรัฐอเมริกา [9]

            อันตรายจากสารก่อภูมิแพ้

            อันตรายจากสารก่อภูมิแพ้เกิดจากผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อโปรตีนบางชนิดที่พบในอาหาร ในบางครั้งอาจพิจารณาเป็นอันตรายทางเคมี ข้อแตกต่างของอันตรายทางเคมีกับสารก่อภูมิแพ้คือ อันตรายทางเคมีเป็นอันตรายต่อทุกคน แต่อันตรายจากสารก่อภูมิแพ้ เป็นอันตรายเฉพาะคนที่แพ้สารนั้น ๆ เท่านั้น รายละเอียดเกี่ยวกับอันตรายจากสารกลุ่มนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ: สารก่อภูมิแพ้

            2.การสูญเสียชื่อเสียง และความเชื่อมั่นในองค์กร

            เมื่อผู้บริโภคเกิดอันตรายจากการปนเปื้อนในอาหาร หรือพบเห็นการปนเปื้อนที่สังเกตได้ (เช่น ปนเปื้อนเส้นผม, แมลง และสิ่งแปลกปลอม เป็นต้น) ทางผู้ผลิตอาหารจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะร้องเรียนหรือเล่าสิ่งที่พบเจอ ลงบนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เรื่องราวกระจายอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่อันตรายเกิดเป็นวงกว้าง หรือเป็นอันตรายรุนแรง ระดับความรุนแรงของข่าวสารก็จะยิ่งกระจายมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นขององค์กรในระยะยาว

            นอกจากนั้นแล้ว การตรวจพบการปนเปื้อนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออก อาจส่งผลให้ประเทศปลายทางเสียความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากประเทศไทย อาจเกิดกรณีเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ หรือสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศนั้น ๆ เช่น กรณีเพิ่มระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบสารเคมีในพริกแดงที่ส่งออกจากไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น [6] และสหราชอาณาจักร [10] เนื่องจากพบกรณีการปนเปื้อนสารเคมีฆ่าแมลงเกินมาตรฐาน

 

–อ่านต่อสัปดาห์หน้า–

Related Post