ITO Thailand Hygiene Blog

Jan 15 2024

อัพไซเคิล (ตอนที่ 2): ตัวอย่างไอเดียและผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล

Upcycle (II): Ideas and examples!

อัพไซเคิล (ตอนที่ 2): ตัวอย่างไอเดียและผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล

            เมื่อเราเรียนรู้หลักการแล้ว มาสำรวจไอเดียการอัพไซเคิลจริง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารกันเถอะ

เพียงให้ความเข้าใจ!

            ในบางครั้ง เพียงแค่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้บริโภค ก็สามารถช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่เดิมอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับนั้นมีมูลค่ามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิตใด ๆ เพิ่มเติม โดยมีองค์กรหลายที่ เช่น Imperfect Produce จากแคลิฟอร์เนีย และ Hungry Harvest จากแมรี่แลนด์ เข้ามาใช้จุดนี้ในการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโจทย์คือ ในปัจจุบัน มีผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมาก ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยที่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ถูกทิ้งเป็นขยะ เพียงเพราะว่ารูปลักษณ์หน้าตาไม่สมบูรณ์ตามความคาดหวังของผู้บริโภค ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จึงเข้ามารณรงค์ ให้ชิวิตใหม่กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มี”เสน่ห์เฉพาะตัว” (Produce with personality)  สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย มีรสชาติปกติ และผู้บริโภคมีส่วนช่วยในการลดปริมาณขยะอาหารอีกด้วย [1]

เปลี่ยนรูปร่าง รสชาติคงเดิม!

            นอกจากการสร้างความรับรู้แล้ว วัตถุดิบอาหารที่หน้าตาไม่สวยงาม อาจถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่รูปลักษณ์ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น น้ำปั่น แยม ชิ้นผักผลไม้อบแห้ง ผงผักผลไม้ หรือแม้แต่การนำมาหมักเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยบางบริษัทได้ทำการตลาดโดยระบุว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ล้วนมาจากผลิตภัณฑ์ที่หน้าตาไม่เป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างเช่นบริษัท Barnana [2] ที่ขายผลิตภัณฑ์ขนมที่ผลิตจากกล้วย ที่ไม่เป็นที่ยอมรับเนื่องจากลักษณะภายนอกไม่ดี หรือระดับความสุกไม่เหมาะสมกับการจำหน่าย เป็นต้น

เพิ่มคุณค่าให้เศษเหลือ!

            ในบางครั้ง เศษเหลือใช้จากกระบวนการผลิตหนึ่ง สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อื่น เช่น Pulp Pantry นำกากใยที่เหลือจากการคั้นน้ำผลไม้ มาผลิตขนมที่มีกากใยสูง [2] หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ หลังจากกระบวนการผลิต plant based milk หรือนมจากพืชแล้วนั้น กากที่เหลือจากการสกัด สามารถนำไปผ่านกระบวนการผลิตเพื่อทำเป็นผงแป้งจากพืช ที่มีใยอาหารสูง มีคุณค่าทางโภชนาการและไม่มีกลูเตนได้

สกัดฟังก์ชันเพื่อนำมาใช้งาน!

            ในบางครั้ง ของเสียจากกระบวนการผลิตยังคงมีสารฟังก์ชัน หรือสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเหลืออยู่มาก เช่น ในกระบวนการผลิตครีมและชีส ในส่วนของหางนมยังคงมีโปรตีนหลงเหลืออยู่ จึงถูกนำมาผ่านกระบวนการอัพไซเคิลเพื่อผลิตเป็นโปรตีนเวย์ชนิดผง เพื่อเป็นอาหารเสริม ที่เป็นที่ต้องการในกลุ่มนักกีฬาค่อนข้างมาก, ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากการประมง ส่วนที่เหลือจากการตัดแต่งวัตถุดิบอย่างหนังปลา สามารถนำมาผ่านกระบวนการย่อยและสกัดส่วนของโปรตีนคอลลาเจน เพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับความงามและสุขภาพของข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่นเดียวกับในส่วนของเอ็นและกระดูกของสัตว์ สามารถนำมาสกัดทำเป็นผงเจลาติน แคปซูลสำหรับบรรจุยา และแคลเซียมในรูปแบบของอาหารเสริมได้, ส่วนของรำข้าวที่เหลือจากกระบวนการสีข้าวขาว สามารถนำมาสกัดน้ำมัน เป็นน้ำมันรำข้าว ที่ประกอบด้วยสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของร่างกายอย่าง Gamma-oryzanol ได้เช่นกัน นอกจากนี้ สารให้สีธรรมชาติ อาจถูกสกัดมาจากส่วนเหลือใช้ของผักผลไม้ที่มีสีสัน เช่น เบต้าแคโรทีนจากเปลือกมะเขือเทศ กากแครอท เปลือกส้ม สับปะรด และแอนโทไซยานินจากกากองุ่น [3] พร้อมๆกับฟังก์ชันในการต้านอนุมูลอิสระของรงควัตถุเหล่านี้นั้นเอง

            สารฟังก์ชันอื่น ๆ ที่มีการสกัดจากกากวัตถุดิบ อาทิเช่น เพคตินจากเปลือกส้ม, สารไคตินจากเปลือกสัตว์, เอนไซม์จากกาก/เปลือกผลไม้ และกรดอินทรีย์จากกาก/เปลือก ของผลไม้ เป็นต้น [3]

            นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมที่มองว่าวัตถุดิบของเสียจากอุตสาหกรรมอาหาร สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการหมักจุลินทรีย์เพื่อผลิต Postbiotics  เช่น กรดบิวทีริกและกรดวาเลริค ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการหล่อเย็น การผลิตสารให้กลิ่นรส ตลอดจนการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอาง [4]

มองผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร

            สารอินทรีย์ที่เป็นของเสีย/ของเหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร สามารถนำมาเป็นโมโนเมอร์ (สารกลุ่มโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน) และสารเสริม (additives) (สารกลุ่ม แอนติออกซิแดนท์, ฟิลเลอร์, สารต้านจุลินทรีย์ ฯลฯ) สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกสำหรับอาหารที่มีความยั่งยืน ลดการใช้พลาสติกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปพร้อม ๆ กับการลดขยะจากอุตสาหกรรมอาหารได้ [5]

            ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มีการนำของเหลือใช้/ของเสียจากอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผิวมาเพิ่มมูลค่า [6] เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงรอบดวงตาจากเศษอโวคาโด, น้ำมันจากกากผงกาแฟ, สารสกัดจากเปลือกเลมอน ฯลฯ

            นับว่าเป็นคอนเซปท์ที่น่าสนใจ ทั้งในการช่วยเรื่องความยั่งยืนและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ไปพร้อม ๆ กันด้วย เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และช่วยโลกไปพร้อม ๆ กัน

            ทางอิโตะ (ไทยแลนด์) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง

1.https://www.theguardian.com/sustainable-business/2016/apr/02/ugly-fruits-vegetables-whole-foods-hungry-harvest-imperfect-produce

2.https://www.realsimple.com/food-recipes/shopping-storing/food/upcycled-food-guide

3.Teigiserova, D. A., Hamelin, L., & Thomsen, M. (2019). Review of high-value food waste and food residues biorefineries with focus on unavoidable wastes from processing. Resources, Conservation and Recycling149, 413-426.

https://www.researchgate.net/profile/Dominika-Teigiserova/publication/334030873_Review_of_high-value_food_waste_and_food_residues_biorefineries_with_focus_on_unavoidable_wastes_from_processing/links/5fbf97dca6fdcc6cc669fc66/Review-of-high-value-food-waste-and-food-residues-biorefineries-with-focus-on-unavoidable-wastes-from-processing.pdf

4.https://www.fooddive.com/news/bioveritas-fermented-upcycled-ingredients-65m/635068/

5.Duguma, H. T., Khule, P., McArdle, A., Fennell, K., & Almenar, E. (2023). Turning agricultural waste into packages for food: A literature review from origin to end-of-life. Food Packaging and Shelf Life40, 101166.

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S2214289423001436

6.Goyal, N., & Jerold, F. (2023). Biocosmetics: technological advances and future outlook. Environmental Science and Pollution Research30(10), 25148-25169.

https://link.springer.com/article/10.1007/s11356-021-17567-3?uid=69bad46b73

 

Related Post