ITO Thailand Hygiene Blog
รวมเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ในปี 2023 part 2
รวมเรื่องราวเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ในปี 2023 part 2
Food Safety news highlights 2023 part 2
รู้ไหมว่ามีเรื่องราวอะไรบ้างในโลกของความปลอดภัยของอาหารในรอบครึ่งหลังที่ผ่านมาของปี 2023?
กรกฏาคม 2023
เข้าสู่ครึ่งหลังของปี ที่สหรัฐอเมริกา ยังมีการเพิ่มจำนวนของการระบาดของ Cyclospora อย่างต่อเนื่องไปจนทะลุ 600 เคสแล้ว [1] เช่นเดียวกับการระบาดของไวรัสตับอักเสบเอจากสตรอเบอรี่แช่แข็ง ก็ยังมีการพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม [2] (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ part 1) ในระหว่างที่การระบาดจากครึ่งปีแรกยังไม่สงบลง ก็พบกรณีการระบาดเชื้อ E. coli โดยมีผู้ติดเชื้อถึง 11 ราย [3] ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีรายงานเกี่ยวกับการระบาดของ Salmonella ในหลายประเทศทั้งในยุโรป (ออสเตรีย เบลเยียม เช็กเกีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร) และสหรัฐอเมริกา รวม 92 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผลการสืบสวนรายงานว่า อาจเกิดจากการปนเปื้อนในมะเขือเทศ [4]
ในเดือนนี้ ทาง EU มี่การแก้ไขข้อกำหนด คำจำกัดความ ปริมาณสูงสุดของโลหะหนัก และ glycidyl fatty acids esters ของสารเติมแต่งอาหาร Mono-and Diglycerides of Fatty Acids (E 471) และกำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องเข้าเงื่อนไขข้อกำหนดใหม่ ภายใน 30 มกราคม 2567 [5]
สิงหาคม 2023
มาถึงเดือนสิงหาคม มีข่าวนักเรียนในฟินแลนด์กว่า 600 คน เกิดโรคอาหารเป็นพิษ คาดว่าเกิดจาก แผ่นแป้งตอติญ่าห่อผัก เกิดการปนเปื้อนขึ้น 6] ส่วนมากนักเรียนมีอาการไม่หนักมากนัก ทว่าในเดือนเดียวกันนี้ ทางออสเตรเลีย ทพบผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ 3 ราย ซึ่งมีรายงานว่าเห็ดดังกล่าว ซื้อมาจากร้านค้าและซุเปอร์มาเก็ต [7] ในส่วนของโรคระบาด พบการระบาดของเชื้อ Salmonella และมีผู้ป่วยกว่า 130 ราย จาก 11 ประเทศ โดยคาดว่าเกิดจากการปนเปื้อนที่ไก่ที่มาจากประเทศโปแลนด์ นำมาซึ่งการเรียกคืนสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง สิ่งที่น่าสนใจจากเคสนี้ คือ เชื้อก่อโรคที่พบ ดื้อยาปฏิชีวนะ ciprofloxacin จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ในการรักษาผู้ป่วย [8]
ในเดือนนี้เช่นกัน ที่กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา (Health Canada) ได้ประกาศแก้ไขอนุญาตเอนไซม์ที่ใช้ในอาหารบางชนิดได้เพิ่มเติม คือ β-glucanase, cellulase และ xylanase จาก Rasamsonia emersonii ในอาหารเช่น ขนมปัง ซีเรียส นมพืช ฯลฯ [9]
กันยายน 2023
ในเดือนนี้มีเคสผู้ป่วยโรคโบทูลิซีม (botulism) เกิดขึ้นในฝรั่งเศสถึง 10 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย คาดว่าเกิดจากปลาซาร์ดีนดองในน้ำมัน ที่ทางร้านอาหารทำขึ้นเอง [10] ส่วนในประเทศแคนาดา พบผู้ป่วยโรคทางอาหารกว่า 260 คน ในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งจากการสอบสวนของ Alberta Health Services พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อ E. coli O157:H7 ในอาหารที่ทำจากครัวกลางของศูนย์ฯ รวมถึงพบแมลงสาบอยู่ทั้งในบริเวณที่เก็บอุปกรณ์และจุดล้างจานเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีการควบคุมอุณหภูมิในการขนส่งอาหารอีกด้วย ทำให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 11 แห่ง ที่รับอาหารจากครัวกลางดังกล่าวต้องทำการปิดชั่วคราว [11]
ส่วนเรื่องข้อกำหนด ในเดือนนี้มีการอัพเดทค่อนข้างเยอะค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การออกร่างมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการกรดอะมิโนในอาหารวัตถุประสงค์พิเศษ (FOSDU) ในจีน [12] การพิจารณาออกร่างกฏหมายในฝรั่งเศส ห้ามผลิตภัณฑ์ plant-based ที่ผลิตในประเทศกล่าวอ้างการใช้ชื่อคล้ายเนื้อสัตว์บนฉลาก [13] ส่วนทางสหรัฐอเมริกา ได้รับรอง Generally recognized as safe: GRAS ให้กับโอลิโกแซกคาไรด์ (HMO) 3 ชนิด [14] ในขณะที่ไต้หวันมีการแก้ไขมาตรฐานของวัตถุเจือปนอาหาร [15]
ตุลาคม 2023
ในเดือนตุลาคม มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์หัวหอมสดหั่นแพ็ค เนื่องจากการปนเปื้อน Salmonella จนมีผู้ป่วย 73 ราย ใน 22 รัฐ ของสหรัฐอเมริกา [16] ส่วนในรัฐรัฐยูทาห์ พบผู้ป่วยอย่างน้อย 14 ราย ติดเชื้อ Campylobacter จากการบริโภคน้ำนมดิบ [17] ทางสหราชอาณาจักร พบการระบาดของ Cryptosporidium ที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง มากกว่าปกติถึง 3 เท่า หรือกว่า 400 เคส คาดว่าเกิดจากการปนเปื้อนในสระว่ายน้ำ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน [18]
ในเดือนนี้ EU ได้ปรับแก้ข้อกำหนด ลดปริมาณการใช้งานไนไตรท์และไนเตรทเพื่อเจือปนอาหาร เนื่องจากมีข้อมูลว่าอาจก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ [19]
ส่วนในประเทศไทย ได้มีรายงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา (1 มกราคม – 25 กันยายน 2566) มีผู้ป่วยโรคหูดับในประเทศไทยถึง 436 ราย และเสียชีวิต 19 ราย จากการรับประทานหมูดิบ หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ [20]
พฤศจิกายน 2023
เดือนนี้มีอัพเดทผลการสืบสวนเรื่องการปนเปื้อนของแผ่นแป้งตอติญ่าในประเทศฟินแลนด์ พบว่ามีวัตถุเจือปนอาหาร Calcium propionate (สารกันเสีย) สูงกว่าปกติถึง 10 เท่า ซึ่งมากเกินปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร [21] ในขณะที่ประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ต้องเรียกคืนแคนตาลูปจากหลายรัฐ เนื่องจากพบการปนเปื้อนเชื่อ Salmonella จนมีผู้ป่วยเกือบร้อยราย และเสียชีวิต 2 ราย [22] ส่วนในฮ่องกง พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จึงต้องกำจัดหมูประมาณ 5,600 ตัว พร้อมทั้งติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป [23]
สำหรับทางข้อกำหนด จีนได้ออกประกาศมาตรฐานบรรจุภัณฑ์เพื่อลดการใช้พลาสติก บังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 [24] ส่วน กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) ได้ออกมาตรฐานการผลิตปศุสัตว์และสัตว์ปีกอินทรีย์ฉบับใหม่ [25]
ธันวาคม 2023
สำหรับในเดือนธันวาคม USFDA มีการเรียกคืนอาหารเด็ก (Cinnamon Applesauce pouches) เนื่องจากมีการปนเปื้อนโลหะหนักและมีผู้ป่วย 64 ราย และกำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนเพิ่มเติมค่ะ [26]
จบไปแล้วนะคะสำหรับสรุปข่าวของปีนี้ ทางเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มาก็น้อย ในการใช้เป็นข้อมูล ให้เห็นภาพรวมของเรื่องราว ปัญหาการปนเปื้อน การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด หรือภาพรวมเทรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในปีที่ผ่านมา เพื่ออนาคตในปีที่มาถึงต่อไปค่ะ
Reference
5.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8917
7.https://edition.cnn.com/2023/08/15/australia/australia-poison-mushroom-statement-intl-hnk/index.html
9.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=8931
10.https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2023-DON489
12.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9011
14.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9005
15.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9002
16.https://www.cdc.gov/salmonella/thompson-10-23/details.html
18.https://www.iflscience.com/cryptosporidiosis-on-the-rise-in-uk-heres-all-you-need-to-know-71347
19.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9075
20.https://www.pptvhdcom/health/news/4134
21.https://www.foodsafetynews.com/2023/11/finnish-officials-crack-mystery-of-mass-food-poisoning/
23.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9187
24.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9161
25.https://warning.acfs.go.th/th/early-warning/view/?page=9172
26.https://efoodalert.com/2023/12/06/recalls-and-alerts-december-5-6-2023/
Related Post
-
เมทานอล vs เอทานอล ความแตกต่างที่คุณควรรู้
เรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภคเมทานอลและความแตกต่างระหว่างเอทานอลกับเมทานอล ค้นพบแหล่งที่มาของเมทานอลในอาหาร อาการพิษที่เกิดขึ้น และข้อควรระวังที่สำคัญเพื่อปกป้องความปลอดภัยของคุณและคนที่คุณรักจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?