ITO Thailand Hygiene Blog

Sep 16 2024

5 เทคนิคการจัดทำโปรเจคหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระบบอุตสาหกรรมอาหาร

            คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่? ที่เริ่มสนใจการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย และ/หรือการปนเปื้อนจากมนุษย์ บทความนี้จะเป็นเคล็ดลับ ที่คุณควรคำนึงถึง ในการจัดทำโปรเจคหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการจริง ๆ ของคุณ

1.มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน

            ก่อนอื่น คุณ และทีมของคุณ ต้องมีความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ตรงกันก่อน ว่าจะนำระบบหุ่นยนต์เข้าไปแก้ปัญหาอะไรในองค์กรของคุณบ้าง เนื่องจากหุ่นยนต์ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายรูปแบบ เช่น

            •การลดการปนเปื้อนและการสัมผัสจากคน

            •การเพิ่มความเร็วในการผลิต

            •การเพิ่มความแม่นยำ ลดความผิดพลาด

            •การเพิ่มความสม่าเสมอของผลิตภัณฑ์

            •การลดจำนวนพนักงาน

            •การดำเนินการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง

            •การยกและลำเลียงของหนักอย่างมีประสิทธิภาพ

            •การลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในจุดที่อันตราย

            •การเก็บข้อมูลแบบ Real time และ เพิ่มความโปร่งใส (transparency) ในกระบวนการผลิต

            ซึ่งโจทย์แต่ละข้อ ก็จะมีการออกแบบดีไซน์โซลูชั่นที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ระบบหุ่นยนต์ระบบหนึ่ง อาจจะตอบโจทย์ได้มากกว่าหนึ่งข้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณที่มีสำหรับโปรเจคนั้น ๆ นอกจากจุดประสงค์แล้ว

2.เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสม

            ในท้องตลาดมีระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจำนวนมาก ในการเลือกใช้ระบบให้เหมาะสม คุณต้องมีการกำหนดดข้อมูลรายละเอียด เพื่อให้ทราบถึงขอบเขตการทำงานของระบบหุ่นยนต์ เพื่อเลือกใช้ระบบที่เหมาะสม ยกตัวอย่างโปรเจคในการการยก-วาง ผลิตภัณฑ์ ควรทราบข้อมูลเหล่านี้

            •ข้อมูลของผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์เป้าหมาย

                –รูปแบบ (ขวด ซอง โหล ชิ้นอาหาร ฯลฯ)

                –จำนวนรูปแบบ

                –ขนาด น้ำหนัก

                –ข้อจำกัดของวัตถุที่จะยก (เช่น เปราะ แตก บอบบางต่อการเสียรูป)

            •ความเร็วที่ต้องการ

            •ลักษณะการจัดเรียงวัตถุ

            •ข้อจำกัดของพื้นที่ (เช่น ขนาดของพื้นที่ มีอุณหภูมิต่ำ/สูง มีความชื้น)

            •อื่น ๆ อาทิ ข้อกำหนดมาตรฐาน (เช่น หุ่นยนต์มีการสัมผัสอาหารโดยตรง หรือต้องเป็นไปตามข้อกำหนดใดเป็นพิเศษหรือไม่)

3.คำนวณความคุ้มค่าในการลงทุน

            ความคุ้มค่าในการลงทุน สามารถคำนวณออกมาในรูป ROI หรือ return of investment ในส่วนของค่าใช้จ่าย ต้องรวมตั้งแต่ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรก ค่าใช้จ่ายในระหว่างปฏิบัติการจริง (เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอะไหล่) และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทางอ้อม เปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ต้องการแก้ไขตามเคล็ดลับในข้อ 1 เช่น สามารถลดปริมาณพนักงานได้กี่คน คิดเป็นเงินเดือนเท่าไร, มูลค่าของเสียหายที่ลดลง, การเพิ่มกำลังการผลิต, การลดปัญหาที่ต้องหยุดการผลิต เป็นต้น ร่วมกับผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ภาพลักษณ์องค์กร ความน่าเชื่อถือของลูกค้า หรือแม้แต่มาตรการการยกเว้นภาษีจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในอุตสาหกรรมอาหาร

4.มองอนาคต

            นอกจาก ROI จากการผลิตในปัจจุบันที่อาจเกิดขึ้นแล้ว การวางแผนโปรเจคที่ดีตั้งแต่ต้น จะสามารถวางแผนระยะยาวไปถึงอนาคตได้อีกด้วย เช่น การวางแผนเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคต, การเลือกระบบที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงขนาด/รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์, การมองไปถึงการเก็บข้อมูลเพื่อ optimization การผลิตทั้งระบบในอนาคต หรือการวางแผนเพื่อเชื่อมต่อระบบหุ่นยนต์เข้ากับระบบอัตโนมัติอื่น ๆ ในไลน์ผลิต เช่น สายพาน ระบบตรวจสอบน้ำหนัก ระบบตรวจสอบโลหะ ระบบแพ็คสินค้า คลังสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น

5.มีการวางแผนในการบำรุงรักษา

            อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ระบบหุ่นยนต์ นอกจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นแล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบ ซึ่งควรมีการวางแผนเพื่อนการบำรุงรักษา เพื่อนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายด้วย เช่น สารหล่อลื่น อะไหล่ที่มีการสึกหรอ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ควรมีการวางแผนแต่ต้น ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากซัพพลายเออร์

            ทางอิโตะ (ไทยแลนด์) ยินดีให้คำปรึกษาเบื้องต้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับการเริ่มทำระบบหุ่นยนต์ภายในโรงงาน รวมไปถึงมีบริการออกแบบระบบตามโจทย์เฉพาะและข้อจำกัดของลูกค้า การให้คำปรึกษา ดูแลตั้งแต่เริ่มโครงการ การออกแบบ-ติดตั้ง การเทรนนิ่งผู้ปฏิบัติงาน ไปจนถึงการให้คำแนะนำเพื่อการดูแลรักษาระบบหุ่นยนต์ครบทั้งวงจร

Related Post