ITO Thailand Hygiene Blog
เมทานอล vs เอทานอล ความแตกต่างที่คุณควรรู้
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีข่าวใหญ่ที่เป็นประเด็นในสังคมเกี่ยวกับการบริโภคแอลกอฮอล์ผิดประเภท ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาล และมีหลายรายเสียชีวิต สาเหตุหลักมาจากการบริโภคเมทิลแอลกอฮอล์ หรือ เมทานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่มีพิษร้ายแรง อาการที่เกิดขึ้นจากการรับประทานเมทานอลนั้นจะเริ่มต้นด้วยการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ตามมาด้วยอาการมองเห็นพร่ามัว ปวดท้องรุนแรง และหากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น (ตาบอด) และเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน
คำถามคือ ทำไมแอลกอฮอล์ถึงทำให้เสียชีวิตได้? แอลกอฮอล์มีกี่ประเภท? และเราควรระมัดระวังอย่างไรในการบริโภคแอลกอฮอล์ที่พบในอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ?
แอลกอฮอล์มีกี่ประเภท?
โดยทั่วไป แอลกอฮอล์แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ เอทานอล (Ethanol) และ เมทานอล (Methanol):
1.เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ที่เราคุ้นเคยในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ และสุรา เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่ร่างกายสามารถจัดการได้ในปริมาณที่จำกัด แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะพิษแอลกอฮอล์ (Alcohol Poisoning) ซึ่งทำให้หมดสติ อาเจียน หรือในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางราย อาจมีภาวะแพ้แอลกอฮอล์ (Alcohol intolerance) ซึ่ง ไม่ใช่ภาวะแพ้อาหาร (Allergies) แต่เกิดจากภาวะร่างกายไม่สามารถย่อยแอลกอฮอล์ได้มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะขาดเอนไซม์ในการย่อย ตัวอย่างอาการ เช่น หน้าแดง คันผิว มีน้ำมูก ฯลฯ [1] หรืออาจเกิดจากการสารอื่น ๆ ในเครื่องดื่ม เช่น ซัลไฟต์
2.เมทานอล หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ เป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเป็นพิษสูงและไม่สามารถบริโภคได้ เมื่อร่างกายได้รับเมทานอล มันจะถูกเปลี่ยนเป็นฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) และกรดฟอร์มิก (Formic Acid) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อระบบประสาท ตับ และตา อาการพิษที่เกิดจากเมทานอลจะมีผลกระทบรุนแรง เช่น ตาบอด และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต [2]
5 แหล่งที่มาของเมทานอลในอาหาร
1.สุราปลอม
เนื่องจากเมทานอลมีราคาต่ำกว่าเอทานอล จึงมีผู้ต้องการลดต้นทุนของสุราโดยการผสมเมทานอลลงในสุรา ซึ่งเป็นการกระทำที่อันตรายและผิดพรบ. อาหาร การดื่มสุราประเภทนี้อาจทำให้ร่างกายได้รับเมทานอลในปริมาณที่อันตราย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและการเสียชีวิต
2.การหมักและกลั่นที่ไม่ได้มาตรฐาน
กระบวนการหมักไม่สมบูรณ์อาจทำให้เกิดเมทานอลเป็นผลพลอยได้ที่ไม่พึงประสงค์ ขณะที่สุราที่ได้มาตรฐานจะมีการควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวดเพื่อแยกเมทานอลออกจากผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบและสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพและความปลอดภัย
3.การปนเปื้อนสารเคมีที่ไม่ควรรับประทาน
สารเคมี เช่น สารทำความสะอาด น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น อาจปนเปื้อนในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับเมทานอล
4.เมทานอลในธรรมชาติ
เมทานอลอาจอยู่ในรูปของเมทานอลอิสระ เมทิลเอสเตอร์ หรือเมทอกซีกรุปในพอลิแซคคาไรด์ เช่น ผลไม้ ถั่ว มันฝรั่ง และหัวหอม ซึ่งมีปริมาณน้อยและร่างกายสามารถจัดการได้ [3]
5.เมทานอลจากการย่อยน้ำตาลเทียมบางชนิด
น้ำตาลเทียมบางชนิด เช่น แอสปาแตม [3] อาจทำให้เกิดเมทานอลเมื่อร่างกายย่อย ซึ่งมีปริมาณน้อย และร่างกายสามารถกำจัดได้ หากไม่รับประทานมากจนผิดปกติ
3 ข้อควรระวังในการบริโภค
1.เลือกอาหาร/เครื่องดื่มที่ผลิตอย่างได้มาตรฐาน
ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตตามมาตรฐานและมีฉลากถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความมั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของเมทานอล
2.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีที่ไม่ควรรับประทาน
ควรระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนสารเคมีที่อันตราย
3.สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายหลังรับประทาน
หากมีอาการผิดปกติหลังการบริโภค ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง:
1.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/alcohol-intolerance/symptoms-causes/syc-20369211
2.https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Methanol
Related Post
-
อัพเดทประกาศใหม่เรื่องการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารฟังก์ชัน
หากคุณเป็นผู้ประกอบการอาหาร ที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง คุณต้องอ่านบทความนี้ เพื่อเรียนรู้ว่า คุณจะโฆษณาอย่างถูกต้องได้อย่างไรบ้าง
-
อัพเดทกฎหมายและมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2024
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัพเดทกฏหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารหลายประเด็น เราขอนำเสนอสรุปข่าวสาร เพื่อช่วยอัพเดทข้อมูลสำหรับการทำงานของเพื่อน ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกลุ่มเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยทำให้คุณไม่พลาดกับเทรนด์และข้อมูลใหม่ๆ ในปีนี้!
-
สารพิษจากจุลินทรีย์ที่พบได้บ่อยในอาหาร Common Microbial Toxins Found in Food
มีพิษในอาหารตัวไหนบ้างที่ได้ยินในข่าวบ่อยๆ แล้วพิษแต่ละชนิด เกิดจากจุลินทรีย์ใดบ้าง
-
ภาวะโลกเดือด ส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมอาหาร
โลกเดือดแล้ว! เมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรกับการผลิตอาหารบ้าง?
-
แหล่งที่มาของสารพิษในอาหาร Food Toxin source
อาหารไม่ปลอดภัย อาจอันตรายถึงชีวิต! ทราบหรือไม่ว่าสารพิษในอาหาร มาจากที่ใดได้บ้าง?
-
Mythbusters: ความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร จริงหรือมั่ว!? (ตอนที่ 2)
เช็คความรู้ความปลอดภัยอาหารกันหน่อย! ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหารอีกหลายข้อที่น่าสนใจมานำเสนอ ข้อไหนใช่ ข้อไหนมั่ว!?